การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Mobile Ad-hoc Network

 

 

      ต่อเนื่องจากจดหมายข่าวฉบับที่แล้ว เราได้รู้จักกับเทคโนโลยี Ad-hoc กันไปแล้วว่าเป็นเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อไร้สายแบบไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เชื่อมต่อกลาง มาในจดหมายข่าวฉบับนี้ ผมจะกล่าวถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อจาก Ad-hoc Network ที่มีชื่อเรียกว่า Mobile Ad-hoc Network (MANET) ครับ
      จริง ๆ แล้วเทคโนโลยี MANET และ Ad-hoc Network เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีเดียวกันเลยก็ว่าได้ เพียงแต่มีความแตกต่างในด้านการใช้งานและการพัฒนา กล่าวคือ Ad-hoc Network เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นครั้งแรกเพื่อรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายที่ไม่ได้มีการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนย้ายไปไหน ทำให้การรับสัญญาณของอุปกรณ์มีความเสถียรคงที่อยู่ระดับหนึ่ง ในทางกลับกัน MANET ถูกพัฒนาขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีความสะดวกและคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายสถานที่ใช้งานมากขึ้น เช่น Smartphone Tablet และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ทำให้การพัฒนาการเชื่อมต่อแบบ Ad-hoc Network ต้องคำนึงถึงความไม่คงที่ของสัญญาณที่จะได้รับเนื่องจากการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ในระบบเครือข่าย อีกทั้งอุปกรณ์แต่ละตัวสามารถปิดตัว พักการเชื่อมต่อ หรือออกนอกพื้นที่การเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา ทำให้การหาเส้นทางการส่งข้อมูล (Routing) เป็นไปได้ลำบากยิ่งขึ้นไปอีก




      ด้วยข้อจำกัดในการใช้งานที่กล่าวข้างต้น ทำให้การพัฒนา MANET เป็นไปในลักษณะ On the fly หรือ Anywhere & Anytime หมายถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในเครือข่ายจะเป็นแบบเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น จะเชื่อมต่อเมื่อไหร่ก็ได้ จากเชื่อมต่อจากที่ไหนก็ได้ตราบใดที่อยู่ในพื้นที่การเชื่อมต่อของอุปกรณ์ในเครือข่ายเดียวกัน และจะตัดการเชื่อมต่อเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน การรับส่งข้อมูลจะส่งหาเป้าหมายโดยตรงหากเป้าหมายอยู่ในพื้นที่การเชื่อมต่อ แต่ถ้าเป้าหมายอยู่นอกพื้นที่การเชื่อต่อของผู้ส่ง การรับส่งข้อมูลจะเป็นการส่งต่อเป็นทอด ๆ โดยอาศัยอุปกรณ์ใกล้เคียงที่อยู่ในพื้นที่การเชื่อมต่อ เพื่อให้ข้อมูลสามารถส่งถึงจุดหมายปลายทางได้ การค้นหาเส้นทางการรับส่งข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ข้างเคียงที่จะต้องส่งสัญญาณ (Heartbeat Signal) หากันเป็นระยะ ๆ เพื่อบอกกับอุปกรณ์ข้างเคียงอื่น ๆ ว่าอุปกรณ์นั้นยังเชื่อมต่ออยู่ นอกจากนี้การรับส่งข้อมูลจะอาศัยเทคนิคการรับส่งข้อมูลทั้งแบบปลายทางเดียว (Unicast) ทุกปลายทางที่อยู่ในเครือข่าย (Broadcast) และหลายจุดหลายปลายทาง (Multicast) เพื่อป้องกันปัญหาการส่งข้อมูลไม่ถึงจุดหมายปลายทาง





บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (10 ตุลาคม 2563)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)