Barcode vs QR code

 

        ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor) และเทคโนโลยีการถ่ายภาพทำให้เราสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น โดยเทคโนโลยีที่ใช้เก็บข้อมูลเพื่ออ่านด้วย Sensor และกล้องถูกพัฒนาขึ้นใน 2 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ Barcode และ QR code ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลแบบ 1 และ 2 มิติ


       

        Barcode เป็นการเก็บข้อมูลแบบมิติเดียวโดยมีลักษณะการเก็บข้อมูลเป็นเส้นทึบดำ โดย Barcode สามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งแบบตัวเลขและตัวอักษร ขึ้นอยู่กับความหนาของเส้นทึบและการเข้ารหัส (Encode) โดยส่วนใหญ่ Barcode ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปมักจะเป็นแบบตัวเลขล้วน ส่วน Barcode ที่ใช้เก็บข้อมูลตัวอักษรจะใช้เฉพาะส่วนเพราะเป็น Barcode ที่ไม่มีมาตรฐานกลางในการใช้งาน ทำให้ต้องมีการตั้งค่าที่เครื่องอ่านให้อ่านตรงตามวิธีการ Encode ด้วย เช่น Plessey code ถูกสร้างขึ้นใช้งานในประเทศกลุ่มยุโรปและถูกพัฒนาต่อเป็น MSI, Anker, และ Telxon barcodes หรือ Code 39 เป็นการเข้ารหัสของ Barcode ชนิดแรก ๆ ที่มีตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์พิเศษให้ใช้งานได้ทั้งหมด 43 ตัวอักษร ซึ่งภายหลังถูกพัฒนาต่อเป็น Code 93 ที่อ้างอิงการเข้ารหัสแบบ ASCII ทำให้มีตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์พิเศษในภาษาอังกฤษให้ใช้ครบทั้ง 128 ตัวอักษร เป็นต้น
         QR code (Quick-Response code) หรือเรียกอีกชื่อว่า 2D Barcode ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการเก็บข้อมูลที่มีความยาวของข้อมูลสูงขึ้น แต่ถูกเก็บให้อยู่ในรูปแบบกะทัดรัด ใช้งานได้ง่าย และสามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่หลากหลาย QR code ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยบริษัท Denso ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งในช่วงแรก QR code สามารถเก็บข้อมูลได้สูงสุด 2,509 ตัวเลข หรือ 1,520 ตัวอักษร และยังมีระบบตัวสอบความผิดพลาดในการอ่านข้อมูลในตัว ต่อมา QR code ถูกพัฒนาต่อด้วยเทคโนโลยี Data matrix ร่วมกับการเข้ารหัสแบบ ASCII ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3,116 ตัวอักษรซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของ QR code แบบดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม Barcode ที่มีความสามารถในการเก็บข้อมูลด้วยกว่าเมื่อเทียบกับ QR code ก็ยังคงเป็นที่นิยมในการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจาก QR code มีความละเอียดในการเก็บข้อมูลค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกรณีที่เก็บข้อมูลจำนวนมาก ๆ ทำให้อุปกรณ์ในการพิมพ์และการอ่าน Code ก็ต้องมีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ยังมีการใช้งาน Barcode ในการเก็บข้อมูลสินค้าต่อไป


 
บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (7 สิงหาคม 2564)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)