ระบบชาร์จไฟแบบไร้สาย (Wireless Charging)

 

ระบบชาร์จไฟแบบไร้สาย (Wireless Charging)



ที่มา : https://cacm.acm.org/

เทคโนโลยีชาร์จไฟแบบไร้สาย (Wireless Charging) ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2437 โดยแต่เดิม เทคโนโลยีนี้มีชื่อเรียกว่า Inductive Charging และถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้า โดยขดลวดโลหะต้นทาง (Transmitter Coil) จะสร้างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารอบวงขดลวดไปยังขดลวดโลหะปลายทาง (Receiver Coil) ทำให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าไหลเวียนในวงขดลวดปลายทาง แต่ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการชาร์จไฟแบบไร้สายนี้ เช่น การสูญเสียพลังงาน ความล่าช้าในการชาร์จไฟ และปัญหาความจุไฟของแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างน้อย ทำให้เทคโนโลยีนี้ถูกลืมเลือนไปกว่า 80 ปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการรื้อเอาเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาต่อ และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี พ.ศ. 2553 ได้มีการออกมาตรฐาน Qi สำหรับระบบการชาร์จไฟแบบไร้สาย และได้มีผลิตภัณฑ์สำหรับชาร์จไฟอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ ที่เรามีใช้ในปัจจุบัน 

Wireless Charging นอกจากความสะดวกสบายของผู้ใช้งานที่ไม่จำเป็นต้องต่อสายในการชาร์จไฟแล้ว ยังมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เนื่องจากพื้นผิวของขดลวดที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจะถูกหุ้มด้วยวัสดุอื่น ทำให้กระแสไฟฟ้าไม่สามารถรั่วไหลออกมาได้ และยังช่วยป้องกันการเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรอีกด้วย นอกจากนี้ อุปกรณ์ยังมีความคงทนสูงกว่าแบบสาย เนื่องจากไม่มีการเสียดสีของวัสดุขณะทำการเชื่อมต่อ

อย่างไรก็ตาม Wireless Charging มีอัตราการสูญเสียพลังงานในการแปลงรูปแบบพลังงานจากพลังงานไฟฟ้า เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และแปลงกลับเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้ต้องใช้พลังงานมากกว่าการชาร์จแบบสายเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาชาร์จไฟยาวนานกว่าการชาร์จแบบสายอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการสูญเสียพลังงานและข้อจำกัดอื่น ๆ ในการแปลงพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้อุปกรณ์ชาร์จแบบไร้สายยังมีราคาอุปกรณ์ที่ค่อนข้างสูง และยังเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ชาร์จลำบากกว่าแบบสาย  

นอกจากการนำเทคโนโลยี Wireless Charging มาใช้ในการชาร์จอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ แล้ว ณ ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีนี้กลับมาใช้ในการพัฒนาระบบชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีการทดลองใช้ในรถบัสประจำทางที่จะมีแท่นชาร์จตามป้ายรถประจำทางอีกด้วย 


บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (10 พฤศจิกายน 2564)

เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th

เว็บไซต์สาขาวิชา : http://pgm.npru.ac.th/ct/

ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

 



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)