เทคโนโลยีปี 2562 ตอน NB-IoT

ต่อเนื่องในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ในปี 2562 นะครับ ในจดหมายข่าวฉบับนี้ผมขอกล่าวถึงเทคโนโลยีอีกชนิดที่ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ครับ โดยเทคโนโลยีนี้ได้เริ่มมีการใช้งานในประเทศไทยแล้ว เทคโนโลยีนี้มีชื่อเรียกว่า Narrow Band Internet of Things (NB-IoT)

                                                                            ภาพ : https://www.astri.org/tdprojects/narrowband-internet-of-things-nb-iot/

   ก่อนที่ผมจะพูดถึง NB-IoT ผมคงต้องกล่าวถึงเทคโนโลยีก่อนหน้าก่อนครับ กล่าวคือ Internet of Things (IoT) นั่นเอง IoT เป็นเทคโนโลยีที่ขยายการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์เครือข่ายไปสู่อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนทั่ว ๆ ไป เช่น ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ โทรทัศน์ หลอดไฟ ประตูบ้าน ตู้เสื้อผ้า ไม้กวาด ฯลฯ ทั้งนี้เทคโนโลยี IoT ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลและควบคุมระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ จากระยะไกล และยังสามารถเชื่อมต่อการควบคุมการทำงานกับระบบ AI เพื่อให้อุปกรณ์นั้น ๆ สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตู้เย็นที่ใช้เทคโนโลยี IoT ร่วมกับ AI จะสามารถตรวจสอบสิ่งของในตู้เย็น เรียนรู้ว่าเจ้าของบ้านมักจะซื้อสิ่งใดมาไว้ในตู้เย็น เมื่อสิ่งนั้นหมดหรือลดจำนวนลงก็สามารถทำการสั่งซื้อของนั้นให้มาส่งให้ถึงบ้านได้ แต่การที่จะทำแบบนี้ได้ก็ยังต้องอาศัยปัจจัยภายนอกอีกครับ นั่นคือร้านค้าจะต้องรองรับการสั่งซื้อผ่านเทคโนโลยีนี้ด้วย
   ส่วน NB-IoT เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์ในส่วนของอุปกรณ์ที่ไม่สามารถเติมพลังงานไฟฟ้าได้หรือทำได้ยากเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ รวมถึงจำนวนอุปกรณ์ที่ใช้งานพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก โดย NB-IoT ยังคงพื้นฐานของ IoT นั่นคือการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าสู่เครือข่าย Internet ซึ่งอุปกรณ์ NB-IoT ถูกพัฒนาให้ใช้งานเครือข่ายในช่วงความถี่แคบ ๆ ร่วมกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และส่งข้อมูลในระดับความเร็วต่ำ เพื่อยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ขึ้นให้อยู่ในระดับ 10 ปี โดยเป้าหมายหลักของ NB-IoT ได้แก่
   1. มิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Metering) เช่น มิเตอร์น้ำ ไฟฟ้า และแก๊ส
   2. เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เช่น ไฟส่องสว่างตามท้องถนน ที่จอดรถ และการจัดการขยะ
   3. อาคารอัจฉริยะ (Smart Buildings) เช่น ระบบรักษาความปลอดภัยและระบบระบายอากาศ
   4. การเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การดูแลที่ดิน ป่า และสัตว์ และการตรวจสภาพอากาศ
   5. ผู้บริโภค เช่น อุปกรณ์ครัวเรือน อุปกรณ์ติดตามตัวบุคคล และอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ
   โดยการทำงานของ NB-IoT ถูกแบ่งออกเป็น 3 โหมด ได้แก่ 1) Standalone ซึ่งใช้ช่วงคลื่นสัญญาณแยกต่างหากจากเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2) Guard band จะใช้การแบ่งช่วงคลื่นสัญญาณออกมาจากคลื่นสัญญาณของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 3) In-Band จะใช้คลื่นสัญญาณร่วมกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งการเลือกโหมดการใช้งานก็จะขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานนั่นเองครับ

บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (1 เมษายน 2562)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยwww.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา : http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)