เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Virtualization และ Docker

เทคโนโลยีใหม่ในปี 2562 ที่ผมจะนำเสนอในจดหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการติดตั้งระบบแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ (Server) และบริการต่าง ๆ ทางระบบคอมพิวเตอร์ กว่าทศวรรษที่เราได้นำเทคโนโลยี Virtualization มาใช้สร้างระบบ Server เพื่อความสะดวกในหลาย ๆ ด้าน ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี Virtualization ในอีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยี Docker ที่เราจะมาทำความรู้จักกันนะครับ

ภาพ : www.aquasec.com

   ก่อนอื่นผมขอกล่าวสรุปเกี่ยวกับเทคโนโลยี Virtualization ก่อนนะครับ Virtualization เป็นเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ที่จำลองการทำงานของคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องบนกลุ่มของคอมพิวเตอร์หรือคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวก็ได้ โดยระบบการทำงานนี้จะมีชื่อเรียกว่า Virtual Machines (VMs) การทำงานคร่าวๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระดับคือ 1) Infrastructure คือส่วนของ Hardware ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องขึ้นไป 2) Host OS เป็นระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์ในส่วนที่ 1 เพื่อควบคุมการทำงานของ Hardware 3) Hypervisor เป็นสื่อกลางระหว่าง Host OS และ Guest OS ใช้ในการจำลอง Hardware เสมือน 4) Guest OS เป็นระบบปฏิบัติการที่ลงซ้อนลงไปบน Hypervisor เพื่อความคุมการทำงานของ Hardware เสมือน 5) Application ติดตั้งบน Guest OS เพื่อให้บริการต่าง ๆ ต่อไป โดยแต่ละ Guest OS ในส่วนการทำงานที่ 4 และ Application ที่ติดตั้งบน Guest OS ตัวเดียวกันในส่วนที่ 5 รวมกันเรียกว่า 1 VM      Docker ถูกพัฒนาต่อยอดจาก Virtualization เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแบ่งปันทรัพยากรของระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ Docker Engine ทำหน้าที่แทน Hypervisor และการทำงานบางส่วนของ Guest OS ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้าง Hardware เสมือนที่มีข้อจำกัดในการแบ่งปันทรัพยากรข้าม VM เป็นผลให้ Application สามารถเข้าถึง Hardware ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแต่ละส่วนการทำงานของApplication บน Docker Engine เรียกว่า Container      อย่างไรก็ตาม Docker มีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยและการใช้งานทรัพยากรของระบบร่วมกัน เนื่องจากแต่ละ Container จะมีการใช้งาน Host OS และ Hardware ร่วมกัน หากการรักษาความปลอดภัยไม่สูงพอ อาจเกิดปัญหาการเจาะระบบข้าม Container ได้ อีกทั้งยังมีปัญหาการแย่งทรัพยากรของระบบหากการติดตั้งควบคุมไม่ดีพอ นอกจากนี้การทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้ใช้งานจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมการทำงานของระบบให้ดีก่อนจะสามารถนำมาใช้จริงครับ

บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (26 มิถุนายน 2562)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยwww.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา : http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ตอนที่ 1