เทคโนโลยี Internet of Things (IoT)

        ในจดหมายข่าวฉบับก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึงเทคโนโลยีใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยผมได้กล่าวรวมถึงเทคโนโลยี NB-IoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีต่อเนื่องจาก IoT นั่นเอง ในจดหมายข่าวฉบับนี้เราจะมาเจาะลึกถึงข้อดีและข้อเสียของเทคโนโลยี IoT กันครับ

(ภาพจาก : https://saixiii.com/what-is-iot-internet-of-things/)

        คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี IoT มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันไม่น้อยเลยทีเดียว IoT ทำให้การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก และรวดเร็ว อีกทั้งยังประหยัดในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายในบางส่วนอีกด้วย นอกจากนี้ระบบ IoT มักจะมีการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) โดยเราสามารถสั่งการอุปกรณ์ IoT เหล่านี้ด้วย Application บน Smartphone จากที่ใดก็ได้ ขอเพียงมีการเชื่อมต่อระบบ Internet ยกตัวอย่างเช่น เครื่องซักผ้า IoT สามารถตั้งเวลาทำงานและส่งข้อความเตือนการทำงานที่ขัดข้องหรือเตือนว่าซักผ้าเสร็จแล้วไปยัง Smartphone ได้ โดยที่เราไม่ต้องนั่งเฝ้าหรือจับเวลารอเพื่อไม่ให้ผ้าเปียกอยู่ในเครื่องนานเกินไปจนเหม็นอับ นอกจากนี้เรายังสามารถ Download รูปแบบการซักใหม่ ๆ ได้จาก Application ของเครื่องซักผ้าแต่ละยี่ห้อ เพื่อให้การซักเหมาะสมกับผ้าของเรา        อย่างไรก็ตาม สิ่งใด ๆ เทคโนโลยีใด ๆ ย่อมมีข้อเสีย IoT ก็ไม่มีข้อยกเว้น โดยปัญหาหลัก ๆ ของ IoT คือความยุ่งยากในการใช้งาน ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยีอาจจะไม่ค่อยชอบใจเท่าใดนัก อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล โดยนักวิจัยในหลาย ๆ ประเทศได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบการก่ออาชญากรรมบน IoT เช่น Smart home blackmailing เป็นการเจาะระบบ Smart home เพื่อนำข้อมูลมาต่อรองกับเจ้าของข้อมูล, Cyber city under attack เป็นการโจมตี IoT ควบคู่ไปกับการก่อการร้ายรูปแบบอื่น, Killer traffic เป็นการเจาะระบบไฟจราจรหรือแผนที่ต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ผิด ๆ หรือปิดการให้บริการไปเลย, Killing hospitals เป็นการเจาะระบบเพื่อปิดการใช้งานระบบบางอย่างของโรงพยาบาล, Attacking cyberwallets เป็นการเจาะระบบการเงินที่ใช้จ่ายผ่าน Application เป็นต้น นอกจากนี้ IoT อาจจะมีส่วนทำให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการ Social addiction เป็นไปได้อย่างยากลำบากขึ้น ผมขอยกกรณีตัวอย่างของผู้ป่วยท่านหนึ่งที่มีอาการ Social addiction ค่อนข้างมากคือต้องใช้ Smartphone เข้า Social network เกือบตลอดเวลา ดังนั้นผู้ปกครองของผู้ป่วยจึงยึด Smartphone และ Computer คืนจากผู้ป่วย อีกทั้งเปลี่ยน Smart TV ออกไป เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเข้าถึง Social network ได้ แต่แล้วผู้ป่วยก็ยังสามารถเข้าถึง Social network ได้ด้วยตู้เย็น IoT        ดังที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า IoT นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในข้อดีอาจจะมีข้อเสีย และในข้อเสียอาจจะมีข้อดีอยู่ได้ เช่นตัวอย่างการใช้งาน Google Home และ Amazon Echo ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะคอยบันทึกการสนทนาทุกอย่าง ซึ่งเป็นข้อเสียที่ทำให้เราสูญเสียความเป็นส่วนตัว แต่อุปกรณ์ชิ้นเดียวกันนี้ก็สามารถช่วยชีวิตคนที่กำลังถูกทำร้ายหรือขู่ฆ่าโดยการโทรเรียกตำรวจมาช่วยในที่เกิดเหตุได้ ดังนั้นการเลือกใช้งานอุปกรณ์ IoT เราจึงจำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของอุปกรณ์นั้น ๆ ก่อนการใช้งานจริง

บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (9 ตุลาคม 2562)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยwww.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา : http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ตอนที่ 1