หุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robotic Vacuum Cleaner)

    ในยุคปัจจุบัน เราคงจะหนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถทำงานแทนมนุษย์หรือช่วยลดขั้นตอน เบาแรงมนุษย์ได้ โดยหลาย ๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย ไม่รู้จัก หรือไม่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเทคโนโลยีนี้นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในปัจจุบัน กล่าวคือ เทคโนโลยีเซนเซอร์ นั่นเองครับ
    ในเทคโนโลยีการทำงานความสะอาดของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องถูพื้น โดยการดูดฝุ่นจะขึ้นอยู่กับความแรงของการดูด หัวปัดฝุ่นขึ้นจากพื้น และหัวแปรงเก็บฝุ่นเข้าตัวเครื่อง ซึ่งแน่นอนครับว่าแรงดูดที่สูงกว่าก็จะสามารถเก็บฝุ่นได้ดีกว่า แต่ก็จะมีข้อเสียที่เสียงดังขึ้นด้วย ส่วนหัวปัดฝุ่นขึ้นจากพื้นและหัวแปรงเก็บฝุ่นในปัจจุบันยังไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก เมื่อมีการใช้งานต่อเนื่อง เราจำเป็นจะต้องถอดหัวปัดและหัวแปรงนี้มาทำความสะอาดอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากการสะสมของฝุ่นและผมจะทำให้ความสามารถในการทำความสะอาดลดลงเรื่อย ๆ ในส่วนของเครื่องถูพื้น ความสามารถในการถูจะขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าซึ่งในปัจจุบันมักจะใช้ผ้า Microfiber ที่มีความสามารถในการเก็บฝุ่นสูง และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคืออุปกรณ์ในการเก็บและปล่อยน้ำลงบนผ้า ความเหมาะสมของปริมาณน้ำและความถี่ในการปล่อยน้ำลงบนผ้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการถูพื้นให้สะอาดและไม่ทำให้พื้นเปียกมากจนเกินไป   เทคโนโลยีด้านการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในปัจจุบันแบ่งได้คร่าว ๆ เป็น 4 ประเภทคือ     1) ควบคุมเอง การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จะถูกควบคุมโดยผู้ใช้งานผ่านรีโมทหรือ Application     2) เดินมั่ว หุ่นยนต์จะเดินมั่วไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ Algorithm ที่กำหนด เรียกได้ว่ามั่วอย่างมีหลักการ    3) เดินตามแผนที่จากกล้อง หุ่นยนต์จะสร้างแผนที่โดยใช้ 2D หรือ 3D image processing จากภาพถ่ายที่ได้จากกล้อง แล้วจึงค่อยเดินตามแผนที่ที่ถูกสร้างขึ้น     4) เดินตามแผนที่จาก Laser แผนที่จะถูกสร้างขึ้นจากการวัดระยะด้วย Laser Distance (LiDar) sensor ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าการใช้กล้องและ Image processing มาก     นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีเสริมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์อีกมาก เช่น Virtual No-Go lines สร้างกำแพงจำลองกันเส้นทางบนแผนที่ไม่ให้เข้า Anti-drop ป้องกันการหล่นจากที่ต่างระดับ Anti-winding ป้องกันการชนสิ่งของ Anti-twining ป้องกันการพันกับสายไฟ Edge clean ทำความสะอาดเฉพาะบริเวณขอบ Spot clean ทำความสะอาดเฉพาะจุด เป็นต้น     การควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมีความหลากหลายตั้งแต่การควบคุมด้วยปุ่มกดบนตัวเครื่อง ใช้รีโมทควบคุม ควบคุมผ่าน Application บน Smartphone และควบคุมผ่านเว็บไซต์ โดยเครื่องดูดฝุ่นที่มีราคาสูงส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับความสามารถในการเชื่อมต่อเครือข่ายทำให้สามารถควบคุมจากระยะไกลได้     ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ เราจึงควรเลือกซื้อเลือกใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่จำเป็นต่อความต้องการของผู้ใช้งานเอง และรวมถึงงบประมาณที่มีด้วยครับ

บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (31 ตุลาคม 2562)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยwww.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา : http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ตอนที่ 1