เครือข่ายไร้สายระยะใกล้ (Local Wireless Network)

      ต่อเนื่องจากจดหมายข่าวในฉบับที่แล้วนะครับ ระบบ Local Wireless Networks ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น กล่าวโดยสรุป เทคโนโลยีหลักของ Local Wireless Networks มีชื่อเรียกว่า Wi-Fi (Wireless Fidelity; เครือข่ายไร้สายความถูกต้องสูง) ซึ่งรับส่งข้อมูลในช่วงคลื่นความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz ตามมาตรฐาน IEEE802.11 โดยสามารถแบ่งออกเป็นมาตรฐานย่อยดังนี้
(ภาพจาก : https://th.wikihow.com/สร้าง-Local-Area-Network-(LAN))
  1. IEEE802.11b (Wi-Fi 1)
เป็นมาตรฐานของ Wi-Fi ตัวแรกที่ออกมาให้ใช้งานทั่วโลกบนคลื่นความถี่ 2.4 GHz ด้วยความเร็วสูงสุด 11 Mbps
2. IEEE802.11a (Wi-Fi 2)
เป็นมาตรฐานที่ออกมาพร้อมกับ Wi-Fi 1 แต่สามารถใช้ได้ในบางประเทศเท่านั้น เนื่องจากการใช้งานคลื่นความถี่ 5 GHz มีความซ้ำซ้อนกับบางหน่วยงานในขณะนั้น โดย Wi-Fi 2 มีความสามารถในการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดถึง 54 Mbps
3. IEEE802.11g (Wi-Fi 3)
เป็นเทคโนโลยีที่ออกมาแทนที่ Wi-Fi 1 และ Wi-Fi 2 โดยทำงานบนคลื่นความถี่ 2.4 GHz ทำให้สามารถใช้งานได้ทั่วไป และยังเพิ่มประสิทธิภาพจาก Wi-Fi 1 ให้มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 54 Mbpsเทียบเท่ากับ Wi-Fi 2
4. IEEE802.11n (Wi-Fi 4)
เป็นการพัฒนาเทคโนโลยี Wi-Fi อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเลือกใช้คลื่นความถี่ในการส่งข้อมูลได้ทั้งช่วง 2.4 GHz และ 5 GHz ซึ่งมีความเร็วการทำงานปกติอยู่ที่ 300 Mbps และสามารถเร่งความเร็วได้สูงสุดที่ 600 Mbps
5. IEEE802.11ac (Wi-Fi 5)
เป็นมาตรฐานใหม่ปี 2556 เกิดขึ้นโดยการรวมกันของการพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องจาก Wi-Fi 4 โดยมีการรวมช่องสัญญาณและขยายช่วงคลื่นความถี่ในการส่งข้อมูลให้กว้างขึ้น โดยส่งข้อมูลแบบลำแสง (Beam) อย่างต่อเนื่อง (Spatial Stream) และใช้เทคโนโลยีการรวมสัญญาณ (Modulation) ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดเพิ่มขึ้นถึง 6.77 Gbps
6. IEEE802.11ax (Wi-Fi 6)
ถูกประกาศเป็นมาตรฐานในปี 2562 เพื่อให้รองรับการใช้งานบนช่วงคลื่นความถี่ตั้งแต่ 1 GHz จนถึง 6 GHz โดยเน้นการพัฒนาการใช้งานช่วงคลื่นสัญญาณในการส่งข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งปรับปรุงการรวมสัญญาณ (Modulation) ให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น
การพัฒนาที่ต่อเนื่องนี้อาจจะทำให้ผู้อ่านคิดว่า Wi-Fi รุ่นใหม่ ๆ จะต้องทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Wi-Fi ใหม่ ๆ ที่พึ่งพาการส่งข้อมูลที่รวดเร็วของช่วงคลื่นความถี่สูง ๆ แต่ในทางกลับกัน คลื่นความถี่ที่สูงจะมีระยะทางในการส่งข้อมูลที่สั้นลง และมีความสามารถในการทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางที่น้อยลงตามไปด้วย

บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (8 มีนาคม 2563)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)