การตรวจสอบข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์

    ข่าวสารในยุคดิจิตอลมีความรวดเร็วว่องไว ไม่ว่าจะผ่านทาง Email, Website, หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งผู้รับข่าวสารสามารถเข้าถึงข่าวสารได้โดยง่าย ส่วนผู้ส่งข่าวสารก็สามารถสร้างหรือเขียนข่าวสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทำให้ในบางครั้งผู้เขียนข่าวสารไม่ได้ตรวจสอบแหล่งข้อมูลให้แน่ชัดก่อนมีการเขียนข่าว รวมถึงกลุ่มคนบางกลุ่มที่ต้องการสร้างข่าวสารเท็จเพื่อให้ผู้รับข่าวสารหลงเชื่อ เพื่อผลประโยชน์บางอย่างหรือเพื่อสนองความต้องการส่วนตัว ดังนั้นในจดหมายข่าวฉบับนี้ ผมขอนำเสนอวิธีการตรวจสอบข่าวสารที่เราได้เห็นได้รับมา เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้สร้างข่าวสารเท็จนั้น ๆ และไม่ส่งต่อข่าวสารผิด ๆ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ 2560
    ในการตรวจสอบข่าวสารเบื้องต้นในยุคปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการค้นหาข้อมูลใน Internet ซึ่งมีความสะดวกและรวดเร็ว โดยเราสามารถค้นหาข้อมูลจากการใช้คำสำคัญของข่าวนั้น ๆ แล้วค่อย ๆ อ่านข้อมูลจากแต่ละ Website ที่ค้นหาได้ ว่ามีข่าวดังกล่าวมีการเผยแพร่มาจากช่องทางใดบ้าง โดยวิธีนี้จะต้องอาศัยดุลยพินิจส่วนบุคคลค่อนข้างมาก โดยในปัจจุบันเริ่มมี Website ที่ช่วยกรองข่าวสารว่าข่าวสารใดเป็นเท็จบ้าง    นอกจากการค้นหาตรวจสอบด้วยตนเองแล้ว ผมขอนำเสนอโปรแกรมที่ช่วยในการกรองข่าวสารอัตโนมัติเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแทนการสืบค้นข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข่าวดังนี้ครับ
(ภาพจาก : https://www.facebook.com/oigetit/)
    1. Oigetit Fake News Filter เป็นโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ในลักษณะ News browser ซึ่งช่วยกรองข่าวสารโดยอาศัยเทคโนโลยี AI ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข่าวโดยนำเสนอเป็น % ความเป็นไปได้ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จ     
   2. Ground News เป็นโปรแกรมอีกหนึ่งทางเลือกบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ในลักษณะ News browser ซึ่งช่วยตรวจสอบแหล่งกระจายข่าวสารว่า Website หรือสำนักข่าวใดบ้างที่มีการนำเสนอข่าวเดียวกันนี้    
   3. Veriflix เป็นโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการ Android และ Website ช่วยตรวจสอบข่าวผ่านเทคโนโลยี Advanced AI ซึ่งยังคงอยู่ในระยะการพัฒนาโปรแกรม ยังไม่สามารถ Download ใช้งานได้ผ่านทาง Google Play Store แต่สามารถ Download โปรแกรมทดลองได้โดยตรงจาก Website ผู้พัฒนา    ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และยังไม่มีโปรแกรมตรวจสอบข่าวอัตโนมัติที่รองรับการตรวจสอบข่าวภาษาไทย ดังนั้นการตรวจสอบข่าวภาษาไทยยังคงต้องใช้วิธีดั้งเดิมคือการค้นหา ใช้วิจารณญาณส่วนบุคคล หรืออาศัยแหล่งข่าวที่มีการตรวจสอบข่าวสารมาแล้ว อีกทั้งต้องระมัดระวังการส่งต่อข่าวสารหรือวิพากษ์วิจารณ์ข่าวสารต่าง ๆ ก่อนจะทราบถึงความจริงของข่าวนั้น ๆ

บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (7 พฤษภาคม 2563)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ตอนที่ 1