การเชื่อมต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายแบบ P2P

 

      ในจดหมายข่าวฉบับที่แล้ว เราได้รู้จักการเชื่อมต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายแบบ Client-Server ไปแล้วนะครับ ในจดหมายข่าวฉบับนี้ ผมขอกล่าวถึงการทำงานของระบบเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer (P2P) บ้างนะครับ
         การเชื่อมต่อแบบ P2P เป็นการเชื่อมต่อเครือข่ายของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ตัวกลางเช่น Server ซึ่งทำให้การใช้งานในลักษณะ P2P นี้มีความคล่องตัวในการเชื่อมต่อ แต่ในทางกลับกัน อุปกรณ์แต่ละอุปกรณ์ในระบบ P2P จะต้องรับภาระการประมวลผล พื้นที่จัดเก็บข้อมูล และ Bandwidth ของเครือข่ายซึ่งเคยเป็นภาระของ Server ทำให้อุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ในระบบ P2P ต้องมีประสิทฺธิภาพที่ค่อนข้างสูงเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น



           P2P จะมีการเชื่อมต่อทั้งในรูปแบบ Online และ Offline กล่าวคือผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้โดยสามารถเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายภายในแบบ LAN หรือเครือข่ายภายนอกผ่านระบบ Internet ก็ได้ ผมขอแบ่ง Application ที่มีการเชื่อมต่อแบบ P2P ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
         
1.    Application ที่กำหนดให้อุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งทำหน้าที่แทน Server ซึ่งผมขอเรียกว่า Local Server โดย Application แบบนี้จะมีรูปแบบการใช้งานแทบจะไม่ได้ต่างไปจากการเชื่อมต่อแบบ Client-Server เพราะ Local Server จะต้องรับภาระการทำงานเกือบทั้งหมดแทนที่ Server จริง แต่รูปแบบการใช้งานนี้มักจะถูกใช้กับกลุ่มอุปกรณ์จำนวนไม่มากนัก เพื่อไม่ให้ Local Server ที่ต้องทำงานหนักมากเกินความสามารถที่อุปกรณ์จะรับได้ ตัวอย่างระบบการทำงานแบบนี้จะสามารถพบได้มากในระบบเกมส์ที่มีการแบ่งการเล่นเป็นห้อง ๆ หรือแม้กระทั่งระบบการแชร์ Internet ของ Computer หรือโทรศัพท์มือถือก็นับเป็นการทำงานแบบ P2P ด้วยเช่นกัน
          2.    Application ที่มีการส่งข้อมูลเป็นทอด ๆ โดยหลักการทำงานของการเชื่อมต่อแบบนี้จะเปรียบเสมือนการเล่นเกมส์บอกต่อคำ โดยแต่ละอุปกรณ์จะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้รับข้อมูล ผู้ส่งข้อมูล และผู้ประสานงานเพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังปลายทางอื่น ๆ เช่น ระบบ Bit-Torrent เป็นระบบแชร์ไฟล์ระหว่างผู้ใช้งาน โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ Server หรือ Local Server เพื่อเก็บข้อมูลไฟล์นั้น
ทั้งนี้ เรายังสามารถแยกย่อยเครือข่ายแบบ P2P ออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้อีกจำนวนมากตามการทำงานของการส่งทอดข้อมูล โดยเครือข่ายแบบ P2P มักจะถูกนำไปใช้กับระบบเครือข่ายไร้สาย เช่น Ad-hoc Network, Opportunistic Network, Mobile Sensor Network, Mobile Social Network, Cooperative Network เป็นต้น ซึ่งผมจะกล่าวถึงในจดหมายข่าวครั้งถัด ๆ ไปนะครับ



บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (5 สิงหาคม 2563)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)