อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

 

 

      ในช่วงใกล้จะปิดเทอมนี้ นักศึกษาหลาย ๆ คนอาจจะกำลังมองหางานที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาตลอด 4 – 8 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักในยุค COVID-19 นี้ อย่างไรก็ตาม โลกเรายังคงหมุนเดินต่อไป ธุรกิจกิจการต่าง ๆ ยังคงต้องเดินหน้าต่อ ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้ก็ยังคงต้องการแรงงานในสายงานนั้น ๆ ในจดหมายข่าวฉบับนี้ ผมจึงรวบรวมอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับสายงานด้านคอมพิวเตอร์ในยุค 2021 ทั้งอาชีพใหม่ ๆ และอาชีพเก่าที่ยังมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้


ภาพที่มา : https://www.freepik.com/


          1. นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาประมวลผล วิเคราะห์ สร้างแบบจำลอง และทำนายแนวโน้มในอนาคต
          2. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและนำมาพัฒนาเป็นโมเดล (Model) หรือเครื่องมือ (Tools) เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
          3. นักพัฒนาโปรแกรม (Programmer) ทำหน้าที่เขียนโปรแกรมตามรูปแบบที่ได้ออกแบบไว้ โดยจะต้องเลือกเทคนิคและภาษาให้เหมาะสมกับการออกแบบแต่ละกรณี
          4. นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) ทำหน้าที่วิเคราะห์และออกแบบระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ Programmer พัฒนาออกมาเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้จริง
          5. นักพัฒนาเว็บไซต์ (Web Developer) เป็นอาชีพที่แยกออกมาจาก Programmer ซึ่งจะเน้นการเขียนโปรแกรมเพื่อพัฒนาเว็บไซต์เป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็น Full stack developer, Front-end developer, และ Back-end developer ขึ้นอยู่กับส่วนความรับผิดชอบของงาน
          6. นักพัฒนาแอปพลิเคชันอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Application Developer) เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่แยกออกมาจาก Programmer ซึ่งจะเน้นการพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่
          7.  วิศวกรระบบ (System Engineer) ทำหน้าที่ออกแบบ ติดตั้ง และดูแลระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น Server ระบบเก็บข้อมูล ระบบสำรองข้อมูล เป็นต้น
          8.  วิศวกรเครือข่าย (Network Engineer) ทำหน้าที่ออกแบบ ติดตั้ง และติดตามการทำงานของระบบเครือข่าย ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้าน Virtualization เข้าร่วมด้วย เนื่องจากมีการใช้งาน Virtual network มากขึ้นในปัจจุบัน
          9. วิศวกรหุ่นยนต์ (Robotics Engineer) ทำหน้าที่ออกแบบและพัฒนาระบบหุ่นยนต์และสมองกล
          10. สถาปนิกด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Architect) ทำหน้าที่ออกแบบและพัฒนาระบบป้องกันผู้บุกรุกจากทั้งภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทั้งความรู้ทางคอมพิวเตอร์ในทุก ๆ ด้านและประสบการณ์การทำงานที่ค่อนข้างสูง
          นอกจากอาชีพที่กล่าวข้างต้นนี้ ยังมีอาชีพแยกย่อยในแต่ละส่วนการทำงาน เช่น Sale engineer ซึ่งทำหน้าที่พูดคุยกับลูกค้าคล้ายกับอาชีพ Sale แต่จะเน้นการอธิบายทางด้านเทคนิคมากกว่าข้อเสนอทางการค้า เป็นต้น
 

บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (10 มีนาคม 2564)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)