การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Vehicular Ad-hoc Network (VANET)

 

 

 

         ในจดหมายข่าวฉบับนี้ ผมขอกล่าวถึงเทคโนโลยี Vehicular Ad-hoc Network เรียกย่อ ๆ ว่า VANET ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายประเภทหนึ่งที่ใช้งานบนยานพาหนะที่มีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงครับ

ภาพที่มา : www.sciencedirect.com/science/article/pii/S221067071730361X

        VANET ถูกพัฒนาขึ้นตามแนวคิดของ Mobile Ad-hoc Network (MANET) ซึ่งอุปกรณ์แต่ละอุปกรณ์ในระบบจะมีความสามารถในการเชื่อมต่อและสร้างเส้นทางการส่งข้อมูลในตัวเอง แต่ VANET จะเน้นการส่งต่อข้อมูลที่มีระยะเวลาในการส่งข้อมูลไม่นานนัก อีกทั้งจำเป็นต้องค้นหาเส้นทางใหม่ ๆ เกือบจะตลอดเวลา เพราะอุปกรณ์ในระบบจะอยู่บนยานพาหนะที่มีความเร็วในการเคลื่อนที่ค่อนข้างสูง ทำให้อุปกรณ์ 2 อุปกรณ์ขึ้นไปจะอยู่ในพื้นที่ครอบคลุมการเชื่อมต่อในช่วงเวลาที่สั้น โดยการรับส่งข้อมูลใน VANET จะแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ Car-to-Station communication และ Car-to-Car communication
         ในการรับส่งข้อมูลของ VANET แบบ Car-to-Station communication จะอาศัยพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของพาหนะ เช่น รถยนต์มักจะติดไฟแดงจราจรเป็นเวลานาน หรือช่วงหนึ่งช่วงใดของถนนมีความเร็วของรถไม่สูงนัก หรือรถประจำทางจะต้องจอดทุกป้ายประจำทาง เป็นต้น โดยระบบจะทำการรับส่งข้อมูลในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อฝากข้อมูลไว้กับ Station เพื่อส่งต่อผ่าน Internet หรือส่งต่อให้กับอุปกรณ์บนยานพาหนะคันอื่น ๆ
         ส่วนการรับส่งข้อมูลของ VANET แบบ Car-to-Car communication จะมีความซับซ้อนในการทำงานมากกว่าการรับส่งข้อมูลแบบแรกค่อนข้างมาก โดยอุปกรณ์แต่ละอุปกรณ์จะเป็นต้องเก็บข้อมูลเพื่อค้นหาเส้นทางส่งข้อมูลในถึงปลายทางให้ได้ ซึ่งเราสามารถนำเทคโนโลยีข้างเคียง เช่น Mobile Social Network (MSN) ที่ผมได้กล่าวถึงในจดหมายข่าวฉบับที่แล้วมาช่วยในการค้นหาเส้นทางการส่งข้อมูลได้ นอกจากนี้การรับส่งข้อมูลแบบนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องช่วงเวลาในการรับส่งข้อมูลด้วย เนื่องจากความเร็วของยานพาหนะ 2 คันจะเป็นความเร็วสัมพัทธ์ ซึ่งถ้าเป็นการเคลื่อนที่สวนทางกัน จะทำให้ความเร็วสัมพัทธ์สูงขึ้น ส่งผลให้ระยะเวลาในการรับส่งข้อมูลสั้นลงไปอีก ทำให้การรับส่งข้อมูลในรูปแบบนี้ยังเป็นความท้าทายของการวิจัยทางด้านการสื่อสารจนถึงปัจจุบัน
         ในปัจจุบัน VANET ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายจะอยู่ในลักษณะ Car-to-Station ซึ่งจะพบได้มากในระบบตารางรถประจำทาง โดยอุปกรณ์บนรถประจำทางจะทำการส่งสัญญาณข้อมูลให้กับอุปกรณ์ที่ป้ายประจำทางเพื่อส่งข้อมูลตำแหน่งของรถประจำทางคันนั้น ๆ ให้กับผู้ใช้งานต่อไป ซึ่งมีใช้งานในหลาย ๆ ประเทศ และได้เริ่มมีใช้งานในประเทศไทยบ้างแล้วเพียงแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่


บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (9 กุมภาพันธ์ 2564)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)