การสำรองข้อมูลในคอมพิวเตอร์
การใช้งานข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งของคนในยุคปัจจุบัน ข้อมูลที่สูญหายจากความผิดพลาดในการจัดการข้อมูลสามารถสร้างความเดือนร้อนรำคาญให้แก่ผู้ใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ได้ เช่น การลบข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้ตั้งใจ การใส่ข้อมูลผิดพลาดแล้วบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิม หรือการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้นในจดหมายข่าวฉบับนี้ ผมขอพูดถึงการสำรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถกู้คืนข้อมูลสำคัญที่ถูกลบ บันทึกทับ หรือเสียหายจากการโจมตีครับ
ภาพที่มา :www.techtalkthai.com/backup-as-an-it-strategy-with-acronis-backup/
การสำรองข้อมูลแบ่งออกเป็น 3 แบบ หลัก ๆ ดังนี้
1. การสำรองข้อมูลแบบกำหนดเอง (Manual Backup) เป็นการสำรองข้อมูลครั้งคราว โดยจะถูกสั่งการสำรองข้อมูลโดยตรงจากผู้ใช้งาน ซึ่งจะมีข้อดีคือผู้ใช้งานสามารถกำหนดช่วงเวลาที่จะสำรองข้อมูลได้ โดยสามารถเลือกเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานอื่น ๆ แต่ก็มีข้อด้อยคือผู้ใช้งานมักจะลืมสำรองข้อมูล และยังสามารถเกิดการสูยหายของข้อมูลได้ในช่วงระหว่างการสำรองข้อมูลแต่ละครั้ง
2. การสำรองข้อมูลแบบตั้งเวลา (Scheduled Backup) คล้ายกับการสำรองข้อมูลแบบกำหนดเอง แต่จะใช้การตั้งเวลาเข้ามาช่วย เช่น การสำรองข้อมูลทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน เป็นต้น ซึ่งช่วยลดกรณีที่ผู้ใช้งานลืมสั่งการสำรองข้อมูล โดยผู้ใช้งานสามารถตั้งเวลาให้ระบบทำการสำรองข้อมูลเองในช่วงที่ไม่ค่อยมีการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเลี่ยงการรบกวนการทำงานอื่น ๆ แต่ยังคงมีข้อด้อยเดิม กล่าวคือ ข้อมูลยังสามารถสูญหายได้ในช่วงระหว่างการสำรองข้อมูลแต่ละครั้ง
3. การสำรองข้อมูลแบบทันท่วงที (Real-time Backup) เป็นการสำรองข้อมูลที่จะทำการสำรองข้อมูลทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลตามเวลาจริง ทำให้ข้อมูลมีโอกาสสูญหายน้อยมาก แต่ยังไม่สามารถป้องกันการสูญหายของข้อมูลเนื่องจากการบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเก่าได้ เนื่องจากระบบสำรองข้อมูลจะถือเป็นข้อมูลกลุ่มก้อนเดียวกัน
นอกจากการสำรองข้อมูล 3 แบบข้างต้น ยังมีการสำรองข้อมูลอีก 1 แบบ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันการสูญหายของข้อมูลเนื่องจากการบันทึกทับข้อมูลเดิมโดยเฉพาะ ได้แก่ การสำรองข้อมูลแบบหลายฉบับ (Multi-version Backup) ซึ่งเป็นการสำรองข้อมูลที่จะไม่บันทึกทับข้อมูลเดิม โดยเมื่อข้อมูลเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบจะทำการสร้างสำเนาข้อมูลขึ้นมาอีกชุด เพื่อเก็บสำรองข้อมูลทั้งข้อมูลเดิมและข้อมูลใหม่ ทำให้เราสามารถเลือกใช้งานข้อมูลฉบับใดก็ได้ โยการสำรองข้อมูลแบบหลายฉบับนี้จะใช้ร่วมกับการสำรองข้อมูลแบบกำหนดเอง แบบตั้งเวลา หรือแบบทันท่วงทีก็ได้
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา : http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น