การเก็บข้อมูลส่วนตัวให้ปลอดภัยจากการโจรกรรม

  

 

        ในโลกปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ถูกเก็บและส่งผ่านให้กันด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลบางอย่างที่เป็นข้อมูลเฉพาะส่วนบุคคลที่เจ้าของข้อมูลไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้รับรู้ แต่กลับถูกโจรกรรมนำไปใช้ในทางที่ผิดด้วยหลากหลายรูปแบบหลากหลายวิธี ในจดหมายข่าวฉบับนี้ ผมจะขอกล่าวถึงขั้นตอนง่าย ๆ ที่จะช่วยให้ข้อมูลส่วนตัวของเรามีความปลอดภัยมากขึ้นจากการโจรกรรมข้อมูลนะครับ

ภาพที่มา : www.freepik.com

    ขั้นตอนง่าย ๆ ในขั้นแรกคงหนีไม่พ้นการเลือกเก็บข้อมูลในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้มีการเชื่อมต่อสู่โลกอินเทอร์เน็ต และเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนย้ายออกจากสถานที่ส่วนบุคคล ทำให้แทบจะไม่มีโอกาสที่จะถูกโจรกรรมผ่านทางการขโมยซึ่งหน้า หรือถูกเข้าถึงผ่านทางมัลแวร์หรือโปรแกรมโจรกรรมข้อมูลต่าง ๆ ได้ และเมื่อเราต้องการลบหรือทำลายข้อมูลสำคัญดังกล่าว เราก็ควรลบด้วยวิธีที่มีความปลอดภัยสูงทำให้ไม่สามารถกู้คืนข้อมูลได้ เราสามารถใช้โปรแกรมสำหรับลบไฟล์เข้าช่วยได้ เช่น Eraser, Secure Eraser, Freeraser, File Shredder, SecureDelete, Blank And Secure, SDelete เป็นต้น

    ในกรณีที่เราจำเป็นต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวบ่อย ๆ หรือต้องการความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลจากอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เราก็ควรเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลดังกล่าวโดยการเข้ารหัสข้อมูลไว้ด้วยโปรแกรมเข้ารหัส ซึ่งผมแนะนำโปรแกรม 2 ประเภทดังนี้

    โปรแกรมสำหรับเข้ารหัสข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ โปรแกรมประเภทนี้จะช่วยเข้ารหัสข้อมูลที่เราต้องการเพิ่มความปลอดภัย ข้อมูลใน Folder หรือ Drive ที่เราเลือกจะถูกเข้ารหัสด้วยวิธีเฉพาะแล้วแต่ความสามารถของโปรแกรมที่เราเลือกใช้ โดยในปัจจุบัน โปรแกรมประเภทนี้ถูกผลิตออกมาให้เราเลือกใช้งานได้มากมาย เช่น ExCrypt, Folder Lock, Advanced Encryption Package, CryptoForge, NordLocker, Steganos Safe, CryptoExpert, Cypherix Cryptainer PE, Cypherix SecureIT เป็นต้น

    โปรแกรมบีบอัดไฟล์ โปรแกรมประเภทนี้มีวัถุประสงค์หลักในการใช้งานคือ การบีบอัดไฟล์ให้มีขนาดเล็กลง แต่ส่วนใหญ่แล้วโปรแกรมประเภทนี้จะสามารถเข้ารหัสข้อมูลที่ถูกบีบอัดได้ด้วย ทำให้ข้อมูลที่ถูกบีบอัดไม่สามารถใช้งานได้จนกว่าจะมีการถอดรหัสด้วย Password ที่ตั้งไว้เสียก่อน เช่น WinZip, WinRaR, 7-zip, Peazip, Zipware, Hamster Zip Archiver, Express Zip File Compression เป็นต้น

    การใช้งานโปรแกรมเข้ารหัสไฟล์ดังกล่าวข้างต้นจะมีผลทำให้ข้อมูลเรามีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้ผู้ใช้งานเองเข้าถึงข้อมูลได้ยากขึ้นและช้าลงด้วย อีกทั้งการเข้ารหัสก็ไม่ใช่วิธีที่ทำให้ข้อมูลของเราปลอดภัย 100% แต่เป็นการเพิ่มความปลอดภัยและยืดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการโจรกรรมข้อมูลเท่านั้น อีกทั้งการเข้ารหัสข้อมูลยังเสี่ยงต่อการสูญหายของข้อมูลมากกว่าการเก็บข้อมูลแบบปกติอีกด้วย ดังนั้นเราจึงควรชั่งน้ำหนักให้ดีกว่าข้อมูลสำคัญดังกล่าวควรเป็นความลับหรือควรเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายและไม่ควรเสี่ยงต่อการสูญหาย


 
บทความจาก : อาจารย์ ดร. ปิติพล พลพบู สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (10 ตุลาคม 2564)
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย : www.npru.ac.th
เว็บไซต์สาขาวิชา http://pgm.npru.ac.th/ct/
ดูประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/pitiphol/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคโนโลยีปี 2562 ตอน Edge Computing และ Fog Computing

การเชื่อมต่อสื่อสารไร้สายแบบ Wireless Sensor Network (WSN)

การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ตอนที่ 1